วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สถาปนิก IDOL รุ่นพี่ลาดกระบัง

ในบทความนี้จะนำเสนอแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับวิชาชีพสถาปนิก ในมุมมองของพี่วี-ปฐวี เวชชธรรม ซึ่งเป็นผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมมาอย่างมากมาย



ประวัติการศึกษาและการทำงาน
พี่ปฐวี เวชชธรรม หรือที่พวกเราเรียกว่าพี่วี เป็นรุ่นพี่ สถ. ลาดกระบังรหัส 40 (สถ.1X)
หลังจากที่พี่วีเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พี่วีได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Roosevelt University Chicago ในวิทยาลัยธุรกิจ หลักสูตร Master of Science in Real Estate (MSRE) ซึ่งแนวการเรียนเป็นแบบเชิงธุรกิจ แต่มุ่งเน้นไปที่ Real Estate (A Master of Science in Real Estate and a Graduate Credential in Commercial Real Estate Development) จากนั้นพี่วีก็ได้งานทำต่อที่ชิคาโก้ และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง AVP Operations ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับ Property Management ที่ Mega Bangna

ผลงานที่ภาคภูมิใจ
ผลงานที่พี่วีภาคภูมิใจที่สุดคือบ้านที่ชิคาโก้ ซึ่งเป็นงานออกแบบชิ้นแรกของพี่วีหลังจากที่ได้งานทำที่นั่น




เหตุผลก็เพราะว่าได้เรียนรู้โครงสร้างของที่นั่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยก็สอนมาในรูปแบบของไทยๆ แต่โครงสร้างของต่างประเทศก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่นี่เท่ากับว่ามาเรียนรู้แบบเริ่มนับหนึ่ง รู้สึกราวกับเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 อีกครั้ง และการออกแบบก็มีข้อที่ต้องคำนึงถึงที่ต่างจากประเทศไทย เช่นต้องคิดเรื่องหิมะว่าจะป้องกันอย่างไร สิ่งต่างๆเหล่านี้พี่วีจะต้องเรียนรู้จากหนังสือและตำราต่างๆด้วยตัวเอง เพราะว่าทางนั้นจะไม่สอนงานให้ การทำงานต่างๆล้วนเป็นสิ่งใหม่ๆทั้งนั้น รวมถึงการเรียนรู้ที่จะคุ้นเคยกับหน่วยนิ้ว ฟุต จากที่ไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
ปัญหาและอุปสรรคโดยทั่วๆไปในการประกอบวิชาชีพ สำหรับพี่วีแล้วก็เหมือนๆกับสถาปนิกทั่วๆไปที่ต้องเจอกับลูกค้าที่มีปัญหา โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยที่สถาปนิกก็จะต้องทำตามที่ซินแสบอก นอกจากนั้นอาจจะเป็นอารมณ์ที่เบื่อการออกแบบ พี่วีมองว่า บางทีเราอาจจะไม่ได้เข้าใจมุมมองทั้งหมดที่ลูกค้ามอง แสดงว่ามีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้พี่วีตัดสินใจไปเรียนต่อที่ชิคาโก้ เพื่อศึกษาถึงกระบวนการของการทำงาน ตั้งแต่การทำที่มาโครงการ(Programming) Feasitbility การออกแบบ ไปจนถึงการบริหารการก่อสร้าง จึงได้เรียนรู้ว่าสุดท้ายก็ต้องกลับมามองที่มุมมองของลูกค้าที่เป็นผู้ใช้งานจริงๆ การออกแบบจำเป็นต้องโฟกัสที่ผู้อาศัยเป็นหลักว่าการใช้งานของเขาจะเป็นอย่างไรต่อ หมายถึงว่างานของเราจำเป็นที่ผู้อาศัยจะต้องดูแล บำรุงรักษาได้ ดังนั้นผู้ออกแบบจึงควรเชื่อฟังผู้อยู่อาศัย เพราะเขาจะต้องอยู่กับมันไปตลอด

ข้อคิดสำคัญในการทำงาน
ข้อคิดสำคัญในการประกอบวิชาชีพของพี่วี คือการให้เกียรติกับทุกๆสิ่งที่ได้ทำ ให้เกียรติกับเวลาของเรา และของลูกค้า ของเพื่อนร่วมงาน เพราะเวลาของเราและคนอื่นๆมีไม่เท่ากัน การตรงต่อเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หรือถ้าเราจะไปสายก็ควรจะบอกก่อนล่วงหน้า ต้องให้เกียรติกับเจ้าของงาน ด้วยการทำงานอย่างเต็มที่ ให้เกียรติกับการใช้วัสดุที่ดี เหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องมีความรับผิดชอบในงาน ยิ่งถ้าเราทำงานผิดพลาดต้องรีบออกมาขอโทษ ออกหน้าให้เร็วที่สุด เพราะการหายหน้าไปไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย การขอโทษจึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบ คือความเป็นมืออาชีพอย่างหนึ่ง

มุมมองต่อสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ
พี่วีคิดว่า สถาปนิกรุ่นใหม่ๆที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง ค่อนข้างเป็นคนที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง คือไม่ฝันมากเกินไป ไม่อีโก้สู้จนเกินไป ไม่งี่เง่า และยังสามารถปรับตัวเองได้ในทุกๆสถานการณ์อีกด้วย

บรรยากาศการเรียนในช่วงเวลานั้นๆ
ปิดท้ายการสัมภาษณ์พี่วี ด้วยการที่พูดบรรยากาศการเรียนในช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน ได้รู้จักเพื่อนๆอย่างรู้ไส้รู้พุง อาจเป็นเพราะต้องทำงานด้วยกันตลอด เห็นชีวิตของกันและกัน พี่วีเล่าให้ฟังว่าสามารถใส่ชุดนอนไปเรียนได้ และที่ปลื้มสุดๆอีกอย่างคืออาจารย์ในคณะมีคาแรคเตอร์ชัดเจนและโดดเด่นดี


งานนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากเราไม่ได้เวลาจากพี่ๆทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่วี หรือพี่คนอื่นๆ เช่นพี่จอย-พี่พบ ArakStudio, พี่แม็ก, พี่ฉั่ว (ที่เราไม่ได้นำบทสัมภาษณ์มาถ่ายทอด) และคนที่ขาดไม่ได้เลยคือพี่โบ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ที่ให้เกียรติเราได้มาใช้สัมภาษณ์พี่ๆ รวมถึงทานอาหารเย็นด้วย




อันที่จริงแล้ว จากการที่เราได้เห็นชีวิตปัจจุบันของพี่ๆที่มานัดรวมรุ่นกัน เราก็ยังเห็นความรักใคร่กลมเกลียว ความเป็นกันเองในสไตล์ของสถาปัตย์ลาดกระบัง ที่แม้กระทั่งเรียนจบไปแล้วก็ยังมารวมตัวกัน อาจจะใหญ่ขึ้นเพราะว่าต่างคนต่างมีครอบครัว มีลูกที่ต้องดูแล และลูกๆก็วิ่งเล่นด้วยกัน เป็นภาพที่น่าประทับใจของน้องๆ ที่เราควรเก็บความน่ารักแบบนี้ไว้ในรุ่นของเรา และถ่ายทอดสู่รุ่นน้องต่อๆไป






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น